สกัด 'สินค้าจีน' ทะลักไม่ง่าย 'อาเซียน' เจองานยากรักษาสมดุลเศรษฐกิจ

01 สิงหาคม 2567
สกัด 'สินค้าจีน' ทะลักไม่ง่าย 'อาเซียน' เจองานยากรักษาสมดุลเศรษฐกิจ
สื่อญี่ปุ่นชี้ อาเซียนกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับปัญหาสินค้าจีนราคาถูกทะลัก 'อินโดฯ - มาเลย์-ไทย' เริ่มออกมาตรการตั้งรับ แต่ก็ต้องระวังการรักษาสมดุลเศรษฐกิจในฐานะที่จีนเป็น "นักลงทุน - คู่ค้ารายใหญ่"

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่กำลังเผชิญการล้นทะลักของสินค้าราคาถูกจาก “จีน” ตั้งแต่เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และกำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่น ทว่าสิ่งที่ทำให้อาเซียนต่างไปจากสหรัฐ และยุโรปที่กำลังใช้มาตรการกำแพงภาษีก็คือ สำหรับอาเซียนแล้ว จีนยังมีฐานะเป็น “นักลงทุนรายใหญ่” ที่อาเซียนต้องรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังอีกด้วย

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียรายงานว่าหลายประเทศในอาเซียนกำลังเจอภาวะที่ยากลำบากในการรักษาสมดุลนี้

เคอร์เนียดี เอกา มุลยานา เป็นหนุ่มอินโดนีเซียวัย 26 ปีที่เพิ่งถูก “เลิกจ้าง” เป็นครั้งที่สอง จากโรงงานสิ่งทอในเมืองบันดุง จ.ชวาตะวันตก เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากทำงานได้ 2 ปี โดยก่อนหน้านั้นเจ้าตัวเคยถูกเลย์ออฟจากโรงงานสิ่งทอที่อื่นมาก่อน

ผู้จัดการโรงงานดังกล่าวให้เหตุผลว่า ยอดขาย และรายได้ของโรงงานลดลงมากนับตั้งแต่แพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซชื่อดัง TikTok Shop เข้ามาเปิดตัวในอินโดนีเซียเมื่อปี 2564 และขายสินค้าราคาถูกที่ผลิตจากจีนผ่านทางแพลตฟอร์มวิดีโอนี้

นับตั้งแต่ต้นปี 2567 มีโรงงานสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้าในอินโดนีเซียเลิกจ้างพนักงานรวมกันแล้วราว 49,000 คน ท่ามกลางโรงงานหลายแห่งที่ปิดตัวลงในจังหวัดบันเต็น ชวาตะวันตก และชวากลาง

สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การส่งสัญญาณของรัฐบาล เมื่อเดือนมิ.ย. โดยซัลคิฟลี ฮาซัน รัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซียเปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนปรับขึ้นภาษีโดยเฉลี่ยมากกว่า 100% ไปจนถึงระดับสูงสุดที่ 200% ในสินค้านำเข้ากลุ่มสิ่งทอ และอาจพิจารณาขยายให้ครอบคลุมไปถึงสินค้ากลุ่มอื่น เช่น เซรามิก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ถูกตีตลาดอย่างหนักจนทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายรายต้องปิดกิจการลง

ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็มีการขยับตัวเพื่อรับมือกับการทะลักของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศโดยเฉพาะที่มาจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดย “มาเลเซีย” ประกาศขึ้นภาษีขาย 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทางออนไลน์ที่มีราคาไม่ถึง 500 ริงกิต (ราว 3,900 บาท) ซึ่งแต่เดิมเคยได้รับการยกเว้น ส่วน “ประเทศไทย” ขยายภาษีแวต 7% ให้ครอบคลุมสินค้านำเข้าที่ราคาไม่ถึง 1,500 บาท

นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่าสำหรับรัฐบาลหลายประเทศในอาเซียนแล้ว การทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนเป็นเสมือนกับภาวะที่ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”

ในขณะที่ผู้ค้าปลีก และผู้ผลิตในประเทศต่างขอความช่วยเหลือจากผลกระทบที่พวกเขามองว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่รัฐบาลเองก็ต้องดึงดูดบริษัทจีนให้เข้ามาลงทุนภาคการผลิตในประเทศด้วย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฮเทค

การรักษาสมดุลของลำดับความสำคัญกลายเป็นเรื่องยากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในจีนทำให้การส่งออกของอาเซียนลดลง สวนทางกับบริษัทจีนที่ต้องระบายสินค้าคงคลังส่วนเกินออกไปในราคาถูก ส่งผลให้ความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนขยายวงกว้างขึ้น และยิ่งกระตุ้นให้รัฐบาลต้องดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องการนำเข้า

จากการคำนวณของทีมนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ พบว่า ในปี 2566 อาเซียน และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นำเข้าสินค้าจากจีนมากถึงราว 1 ใน 3 จากการส่งออกทั้งหมดของจีน แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันแค่ 1 ใน 10 ของจีดีพีโลกก็ตาม

สำหรับไทยแล้ว จีนเป็นประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าไปมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ และเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้ามากที่สุดเป็นเบอร์ 1 โดยมีสัดส่วนเกือบ 25% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด และในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเป็น 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563

ด้านมาเลเซียขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นเช่นกันในช่วงดังกล่าว จาก 3.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่อินโดนีเซียยังสามารถรักษาสถานะเกินดุลการค้ากับจีนได้ที่ 2 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว จากการส่งออกสินค้าในกลุ่มโลหะ แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อินโดนีเซียขาดดุลการค้ากับจีนไป 5 พันล้านดอลลาร์ จากการค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ

ชาลส์ ออสติน จอร์แดน นักวิเคราะห์อาวุโสด้านนโยบายสหรัฐจากบริษัทโรเดียม กรุ๊ป กล่าวว่า การค้าไม่สมดุลที่ขยายวงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริษัทจีน และคู่ค้าต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิต และประกอบจากจีนไปยังอาเซียน เพื่อลดความตึงเครียดทางการค้ากับประเทศในตะวันตกรวมถึงปัจจัยอื่นๆ โดยจีนมองการลงทุนเหล่านี้ว่าเป็นกลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยง

การย้ายซัพพลายเชนออกไปนี่เองที่ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางจากอาเซียนลดลง และกลายเป็นปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นแทน ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2567 สหรัฐได้แซงจีนขึ้นเป็นตลาดที่กลุ่มอาเซียนส่งออกสินค้าไปมากที่สุดด้วยมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร HSBC การปรับเปลี่ยนนี้มีประโยชน์อย่างมากในแง่การปรับสมดุลการค้าโลก ผลจากการค้ากับจีนทำให้อิทธิพลของอาเซียนในการค้าโลกเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แม้ว่าอาเซียนจะขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้นจาก 8 หมื่นล้านดอลลาร์ก่อนช่วงโควิด ไปเป็นเกือบ 1.15 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบันก็ตาม


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.